พานาโซนิค เดินหน้า Circular Economy รีไซเคิลถ่านไฟฉาย

02 เมษายน 2567
พานาโซนิค เดินหน้า Circular Economy รีไซเคิลถ่านไฟฉาย

“พานาโซนิค” ผนึกยูเอ็มซี เม็ททอลและซีพี ออลล์ เดินหน้ารีไซเคิลถ่านไฟฉายใช้แล้ว ด้วยเทคโนโลยีเตาเผา ECOARC™ แยกเอาวัสดุกลับมาสร้างมูลค่าใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy

“ทาคุยะ ทานิโมโตะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) เล่าให้ฟังว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคถ่านไฟฉายกว่า 300 ล้านชิ้น มักถูกทิ้งหรือทำลายโดยการฝังกลบไม่คัดแยกก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันพื้นที่ในการฝังกลบก็มีจำกัด พานาโซนิคจึงมีแนวคิดในการรับคืนถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดมูลค่าใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

พานาโซนิคฯ จึงเดินหน้า “โครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” ขึ้น โดยเริ่มต้นจากการส่งตัวอย่างถ่านไฟฉายให้โครงการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีรีไซเคิลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมจนสามารถได้รับอนุญาต และต่อยอดความร่วมมือกับ ยูเอ็มซีฯ รีไซเคิลเศษโลหะและวัสดุอื่นๆ และซีพี ออลล์ ขยายจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายใช้แล้วที่ร้านเซเว่นฯ 31 สาขาในปี 2565 เพิ่มเป็น 50 สาขาในปี 2566

โดยโครงการนี้ ใช้กระบวนการหลอมถ่านไฟฉายร่วมกับเศษเหล็กอื่นๆ ด้วยเตาหลอม ECOARC™ ซึ่งเป็นต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูง ที่ได้รับการพัฒนาจากประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นในเรื่องการประหยัดพลังงาน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สามารถบำบัดมลพิษ และกำจัดสารไดออกซิน ก่อนปล่อยสู่อากาศ โดยตั้งอยู่ที่ ยูเอ็มซี เม็ททอล จ. ชลบุรี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO)

“ถ่านไฟฉายที่เราทิ้งหน้าร้านเซเว่นฯ นั้นไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกนำมาแปรรูปเป็นเหล็กแท่ง โดยยูเอ็มซีฯ ในจังหวัดชลบุรีเพื่อเข้าสู่กระบวนการหลอมรวมกับเศษเหล็กในอัตราส่วนที่กำหนด และส่งเข้าเตาหลอม ECOARC™ ใช้รถยกตะแกรง (Skip car) และเมื่อกระบวนการหลอมเสร็จสิ้นลง จะได้ออกมาเป็นน้ำเหล็ก และถูกส่งต่อไปยังเตาปรุงน้ำเหล็ก เพื่อปรับค่าเคมีของเหล็ก ก่อนจะนำไปหล่อเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กแท่ง (Billet) เพื่อส่งขายในอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป”

ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือการนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วกลับไปผลิตเป็นถ่านไฟฉายก้อนใหม่ ซึ่งถือเป็นการรีไซเคิลถ่านไฟฉายใช้แล้วเต็มรูปแบบครั้งแรกของไทย และตั้งเป้าหมายเพิ่มจุดรับถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วเป็น 1,000 สาขาภายในปี 2567 เพื่อนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.